บทความ
24APR
รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562
โดย: ww

17 ตุลาคม 2562- โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก, อะ ลักช์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานแสดงความความยินดีแก่นักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2562 ในปีนี้ผลงานวิจัยพัฒนา “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้อำนวยการโครงการ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562” แล้ว จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 ในวโรกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 (วทท.45) ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย  <ข่าวในพระราชสำนัก https://youtu.be/xbKh58O2sbc >

โครงการดังกล่าวข้างต้นเริ่มในปี พ.ศ. 2550 จากการรวมตัวของคณะวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ (ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) เป็นผู้อำนวยการโครงการ, ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี (นักวิจัยอาวุโส) เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบซอฟต์แวร์ และ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป (นักวิจัยอาวุโส) เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบฮาร์ดแวร์ และคณะวิจัยจาก สวทช. อีกรวมทั้งสิ้น 19 คน จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่อมาบางส่วนได้ย้ายไปสังกัดศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (เอ-เมด) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเช่นกัน

การดำเนินงานเริ่มจากงานทันตกรรมเป็นอันดับแรก ตั้งแต่การออกแบบ วิจัย พัฒนา ผลิตต้นแบบตามมาตรฐานสากล จนกระทั่งถ่ายทอดสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้จริงจนปัจจุบัน ต่อมาได้ขยายไปใช้งานลักษณะอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวยซึ่งบางครั้งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า โคนบีมซีที (Cone Beam CT) หรือ ซีบีซีที (CBCT) จึงได้รับการออกแบบและผลิตออกมาเป็น 3 ลักษณะเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ ได้แก่

1) เครื่องเดนตีสแกน (DentiiScan) เน้นงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า

2) เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) เน้นการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ สามารถเคลื่อนย้ายได้

3) เครื่องมินีสแกน (MiniiScan) เน้นการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ (ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวย้ำว่า “ผลงานวิจัยพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย จะช่วยลดการเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับคุณภาพของคนไทย ส่งเสริมให้มีการฝังรากเทียมกับผู้ยากไร้ และการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ พร้อมลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดเงินตราของประเทศไปได้กว่า 270 ล้าน รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์จากงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ และสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย ตลอดจนสร้างเครือข่ายทันตแพทย์ขนาดใหญ่ในระดับประเทศ เกิดมูลค่าทางทันตแพทย์ในการทำรากฟันเทียม 900 ล้านบาทต่อปี ตอบโจทย์การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป

 

ที่มาจาก https://www.nstda.or.th/th/news/12848-20191017-nstda